เติมเต็มนักสังคมสงเคราะห์

          ช่วงที่ผ่านมา เห็นน้อง ๆ ม.6 เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันอย่างคึกคัก ทำให้นึกถึงตัวเองสมัยที่ขะมักเขม้นอ่านหนังสือเพื่อสอบเข้าเรียนในคณะที่สนใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

 

          แต่ปัญหาในขณะนั้นคือ..

 

          แม้คณะนี้จะก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร แต่ฉันไม่รู้ว่าคณะนี้เรียนอะไรบ้าง รู้เพียงว่าคนที่จบมาส่วนใหญ่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งความจริงแล้ว ก็ไม่รู้ว่า

นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่อะไร สุดท้ายเลยเลือกเรียนในสาขาวิชาที่รู้จักคุ้นเคยมากกว่

          ถึงวันนี้ เริ่มรู้จักและเข้าใจสาขาวิชานี้มากขึ้นในระดับหนึ่ง…

 

          การทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม แม้จะยังเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่การเข้าร่วมประชุมรับฟัง และร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ทำให้เริ่มมีความเข้าใจงานด้านนี้มากขึ้น รวมทั้งเข้าใจถึงความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในสังคม

          ที่ผ่านมา ความเข้าใจของสังคมไทยในภาพรวมเกี่ยวกับนักสังคมสงเคราะห์อาจกล่าวได้ว่ายังไม่ชัดเจนมากนัก โดยส่วนใหญ่คาดหวังว่าเป็นการทำงานในมิติทางสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งในทางปฏิบัติมีได้มากมายหลายประเด็น โดยอาจมีความคล้ายคลึงกัน หรือมีความเฉพาะของแต่ละบุคคล แต่ละครัวเรือน และนอกจากการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังต้องมุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข 

          ผศ.ดร.วิไลภรณ์ โคตรบึงแก อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพที่สามารถตอบสนองความคาดหวังของสังคม โดยในระดับปริญญาตรี หรือที่เรียกว่าเป็น Entry Level มีการบรรจุวิชาพื้นฐานทั้งหมดที่มีความจำเป็นใน

การปฏิบัติหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ และเนื่องจากปัจจัยทางด้านสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ก็จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มเติม หรือต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์และปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา เช่น การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือเทคนิควิธีการบางอย่าง ซึ่งจาก

การสำรวจของสภาวิชาชีพพบว่า นักสังคมสงเคราะห์ในปัจจุบันต้องการวิธีการทำงานกับกลุ่มที่เป็น

เชิงลึกมากขึ้น เช่น การให้คำปรึกษา การบำบัดทางจิตสังคม

Picture1

          นอกจากการใช้ความรู้และทักษะตามกระบวนการและวิธีการทางสังคมสงเคราะห์แล้ว ประเด็นที่ ผศ.ดร.วิไลภรณ์ ให้ความสำคัญหรือถือเป็นหัวใจคือ “การทำงานภายใต้กรอบหลักมาตรฐานจรรยาบรรณและกรอบการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น”

          ประเด็นดังกล่าวมีความสอดคล้องกับความเห็นของนักสังคมสงเคราะห์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน โดยจากการสอบถามความเห็นเชิงคุณภาพ (Focus Group Interview) ของ

นักสังคมสงเคราะห์ส่วนหนึ่งในประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดโดยศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนฯ ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า นอกจากวิชาการที่ได้ศึกษามาแล้ว สิ่งที่จะสามารถ “เติมเต็ม” ให้กับนักสังคมสงเคราะห์คือ หลักสูตรฝึกอบรมที่เน้นเทคนิคการบริหารจัดการเชิงประเด็น (Case Management Techniques) โดยเฉพาะในกรณีใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นในกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทั้งในประเทศไทย และในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนขณะนี้      

          ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนฯ ผศ.ดร.วิไลภรณ์ ให้ความเห็นว่า “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอาเซียนถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่มีทั้งความคล้ายคลึงและต่างกัน เราจะเห็นจุดร่วมหลาย ๆ จุด เช่น การเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาหลายฉบับ ดังนั้นจึงมองว่าการมีศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนฯ ที่พยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจะทำให้สามารถได้รับประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีของแต่ละประเทศด้วย”

          มาถึงตรงนี้ ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ…

 

         จะทำอย่างไรให้สาขาวิชาชีพด้านสังคมสงเคราะห์เป็นที่รู้จักมากขึ้นและนักสังคมสงเคราะห์มีความรู้และทักษะอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น

 

          เมื่อศึกษาจากจุดประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนฯ นอกจากจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของนักสังคมสงเคราะห์และเป็นสะพานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการอบรม ทั้งในลักษณะเต็มหลักสูตรและอบรมรายวิชาตามความสนใจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และได้มาตรฐานในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งพันธกิจหลักนี้ อาจจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งที่สามารถต่อยอด และ “เติมเต็ม” ความรู้และทักษะให้แก่นักสังคมสงเคราะห์ในประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไปในอนาคต

Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial