เมื่อเด็กหนุ่มถูกค้ามนุษย์ทางเพศ: เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน
นภัสสร ณ นคร
การค้ามนุษย์ ถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่สร้างรายได้เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากการค้ายาเสพติด และสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจของเหยื่ออย่าง
แสนสาหัส ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะได้ยินรายงานผู้หญิงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทางเพศ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมนี้
โดยคำจำกัดความ “การค้ามนุษย์” หมายถึง การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยวิธีการขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลัง หรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบอื่นใด ด้วยการลักพาตัว ด้วยการฉ้อโกง ด้วยการหลอกลวงด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคล
จากรายงานการค้ามนุษย์ทั่วโลกปี 2563 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC)
พบว่าส่วนใหญ่ เพศชายถูกบังคับใช้แรงงานในไร่นา เหมืองแร่ การประมง ตามมาด้วย การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ การลักลอบค้ายาเสพติด และการบังคับค้าอวัยวะ
สังเกตได้ว่าเพศชายมักตกเป็นเหยื่อการถูกบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมหนัก เนื่องด้วยร่างกายทางกายภาพที่แข็งแรงมากกว่าเพศหญิง แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจคือเพศชายก็ถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศเช่นเดียวกับเพศหญิง
เด็ก ซึ่งในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กพ.ศ. 2546 ในมาตรา 4 หมายถึงบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เช่นเดียวกัน รวมทั้งเด็กผู้ชายอายุระหว่าง 15 – 17 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด
การค้าเด็กคือการที่เด็กถูกส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ไม่ว่าจะระยะทางใกล้หรือไกล เพื่อผู้ใหญ่สามารถกระทำการล่วงละเมิดทางเพศและแสวงหาประโยชน์ ซึ่งเด็กหรือคนในครอบครัวของเด็กอาจถูกล่อลวง กดดัน หรือถูกบังคับให้เคลื่อนย้าย การแสวงหาประโยชน์จากเด็กและผู้ใหญ่ในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
สาเหตุที่ทำให้เด็กเพศชายกลายเป็นเหยื่อของอาชญากรรม อาจมีหลายประการ เช่น การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความยากจน ปัญหาครอบครัว การติดสินบน คนที่ไว้ใจกลายเป็น “นายหน้า” และการติดยาเสพติด
เนื่องจากความคิดเหมารวมทางเพศ สังคมรับรู้ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอและผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรง เมื่อมีข่าวผู้หญิงเป็นเหยื่อ สังคมจึงไม่แปลกใจนักและประณามผู้ก่ออาชญากรรมเหล่านั้น ในทางกลับกัน หากเหยื่อเป็นผู้ชาย สังคมจะประหลาดใจเชิงขบขันเพราะไม่เชื่อว่าผู้ชายสามารถเป็นเหยื่อได้ เนื่องจากผู้ชายมีพละกำลังที่แข็งแรงและมักจะเป็นผู้กระทำมากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ การเหมารวมทางเพศเช่นนี้ ทำให้เหยื่อผู้ชายไม่กล้าออกมาพูดความจริง ดังนั้น รายงานและข่าวที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่เป็นเรื่อง
การละเมิดทางเพศต่อผู้ชายจึงมีไม่มากนัก
จากคำสัมภาษณ์ผู้ชายจำนวนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทางเพศในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่นอายุประมาณ 15 – 17 ปี พบว่า หลังจากโดนกระทำ ส่วนหนึ่งจะมองว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรมหรือโชคชะตา และในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ เลือกที่จะ “เงียบ” ปิดปากไว้และทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะกลัวสังคมกล่าวหาว่าไม่มี “ความเป็นชาย” และเข้าใจว่าเป็น “เพศที่สาม” อีกทั้งไม่กล้าบอกที่บ้าน กลัวไม่มีคนเชื่อ และหากเป็นครอบครัวที่เคร่งศาสนาบางศาสนาด้วยแล้ว อาจจะถูกไล่ออกจากบ้านได้
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าเพศใด ก็อาจถูกความคิดเดิม ๆ แบบนี้กดทับ จนเราลืมที่จะปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง หรือกล้าเตือนคนอื่นเพื่อให้ระมัดระวังและไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รวมทั้งกลัวว่าจะไม่มีที่ยืนในสังคมและจะสร้างความอับอายให้แก่ตนเองและครอบครัว
สุดท้ายบางคนจึงเลือกจบชีวิต เพราะคิดว่าความตายคือเสียงที่เรียกร้องได้ดีที่สุด
ในเมื่อความเงียบ ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมา สิ่งที่รัฐควรทำคือการแก้ไขต้นเหตุของปัญหา ซึ่งหนึ่งในนั้น คือการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหนุ่มกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์มากที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความขัดแย้งภายในบ้านและลดการติดสินบน นอกจากนั้นต้องมีมาตรการปราบปรามและมีบทลงโทษทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ซึ่งในส่วนของรัฐบาลไทย มีประกาศชัดเจน ในโอกาสวันรณรงค์ต่อต้านการมนุษย์ 5 มิถุนายน 2564 ถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อขจัดขบวนการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ โดยถือว่า “การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ”
ขณะเดียวกัน ครอบครัวต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นการค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมถึงเรื่องเพศ เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ให้ให้ความรู้กับเด็ก อีกทั้งควรรับฟังปัญหาจากลูกและทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ
ในโรงเรียนควรให้ความรู้ในประเด็นการค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมถึงเรื่องเพศ โดยการรณรงค์และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นภายในโรงเรียน อีกทั้งรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขให้นักเรียน เพื่อป้องกันมิให้ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม
ส่วนสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องเพศด้วยการมองที่ต้นตอของปัญหาโดยไม่ยึดการเหมารวมทางเพศ และควรให้โอกาสเหยื่อออกมาพูดความจริงโดยไม่ตอกย้ำซ้ำเติม และที่สำคัญ สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติ ความเข้าใจ ความเชื่อ และภาพกำหนด (Stereotype) ในเรื่องเพศสภาพ และบทบาททางเพศที่สังคมตั้งมาตรฐานไว้ โดยหันมาเน้นในเรื่อง
ความเป็นมนุษย์
และสุดท้าย เหยื่อต้องไม่โทษตัวเองและมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือชะตากรรม แต่ต้องหันมาแก้ไขปรับปรุงสภาพจิตใจเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น โดยมองเห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.wgbh.org/news/unseen-the-boy-victims-of-the-sex-trade-pt-1
https://www.ctdatacollaborative.org/story/men-and-boys-trafficked-sexual-exploitation
https://so04.tci-thaijo.org/index.php/ksk/article/view/126524
https://www.iom.int/sites/default/files/our_work/DMM/MAD/A4-Trafficking-External-Brief.pdf